• banner

ทำความเข้าใจเรื่องของการ Bully และวิธีรับมือ

คนยุคก่อนๆ มักมองว่าเด็กแกล้งกันเป็นเรื่องปกติ แต่การแกล้งกันมีผลกระทบมากกว่านั้น ทุกวันนี้มีการพูดถึงคำว่า Bully กันมากขึ้น พ่อแม่อาจเจอเหตุการณ์ที่ลูกโดน Bully หรือครูแจ้งว่าลูกไปแกล้งเพื่อน อาจเห็นข่าวที่เยาวชนมีการใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นและพบประวัติว่าพวกเขาก็เคยโดน Bully มาก่อนเช่นกัน บางครั้งการแกล้งกันอาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่าที่เราคิด วันนี้เรามาทำความเข้าใจพฤติกรรมนี้กันค่ะ 

• การกลั่นแกล้งรังแกกัน (Bully) เป็นพฤติกรรมที่ตั้งใจทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์โดยการแสดงอำนาจเหนือกว่า และเกิดขึ้นซ้ำๆ  หากเกิดครั้งแรกผู้กระทำอาจไม่ตั้งใจรังแกอีกฝ่ายและยังเกิดอำนาจเหนือกว่าไม่ชัดเจน เรียกว่าเป็นการแกล้งได้ แต่ยังไม่นับว่าเป็นการ Bully หากเกิดซ้ำอีก แสดงว่าเป็นการจงใจกลั่นแกล้ง และคนที่แกล้งมีอำนาจเหนือกว่า จึงเรียกว่าเป็นการ Bully
• การกลั่นแกล้งรังแกกัน (Bully) มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาล้อเลียน เสียดสี ข่มขู่ ใส่ร้าย กีดกันไม่ให้เข้ากลุ่ม การกลั่นแกล้งรังแกแบบรุนแรง เช่น การขโมย ทำลายสิ่งของ ไถเงิน หรือการต่อยตี ทำร้ายร่างกาย รวมถึงการรังแกกันในโลกออนไลน์ (Cyberbully) ซึ่งผู้กระทำอาจเป็นคนที่ไม่รู้จักก็ได้

Bully ส่งผลอย่างไรบ้าง
• เด็กที่ถูก bully  อาจไม่กล้าเล่าให้ใครฟังเพราะไม่อยากดูเป็นคนอ่อนแอ ขี้ฟ้อง กลัวบอกแล้วจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ คิดว่าบอกไปก็ช่วยไม่ได้ หรืออาจไม่กล้าบอกเพราะโดนขู่ ยิ่งถ้าเป็นเด็กขี้กังวลอยู่เดิม ไม่ค่อยมั่นใจหรือมีเพื่อนน้อย จะยิ่งรู้สึกกลัว ขาดความมั่นใจ มองว่าตัวเองอ่อนด้อย ไร้ค่า อาจรู้สึกแปลกแยกจากเพื่อน จนไม่อยากไปโรงเรียน เก็บตัว หากโดนรังแกซ้ำๆ อาจทำให้เศร้า หงุดหงิดง่าย ไม่ร่าเริง กังวลไปทั่ว นอนไม่หลับ หรือเห็นภาพโดนรังแกซ้ำๆ คล้ายโรคเครียดหลังเจอเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-traumatic stress disorder) โรคกลัวการเข้าสังคม (Social anxiety disorder) หรือโรคซึมเศร้า (Depressive disorder) จนอาจมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเองหรือความคิดอยากตายได้
• เด็กที่ bully คนอื่นบ่อยๆ ถือเป็นปัญหาพฤติกรรม ก็อาจมีปัญหาทางอารมณ์ ความเครียด ขาดการเห็นคุณค่าในตัวเอง (Low self esteem) หรือเคยโดนแกล้งมาก่อน จึงใช้การรังแกคนอื่นเพื่อให้รู้สึกเหนือกว่าและเป็นที่ยอมรับของเพื่อน เด็กกลุ่มนี้มักมีลักษณะบางอย่าง ได้แก่  มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นน้อย ยับยั้งชั่งใจได้น้อย ซึ่งอาจเกิดจากตัวเด็กร่วมกับปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดู ค่านิยมในบ้านเรื่องการแสดงอำนาจข่ม การใช้ความรุนแรง หรือค่านิยมในสื่อสังคมต่างๆ ทำให้เด็กคุ้นเคยกับพฤติกรรมเหล่านี้และลอกเลียนแบบ แม้แต่การที่ผู้ใหญ่เฉยเมย ปล่อยผ่านเมื่อเห็นพฤติกรรมแกล้งกัน ก็ทำให้เด็กเรียนรู้ว่าฉันทำได้ ไม่เป็นไร เด็กกลุ่มนี้ควรได้รับการประเมินและช่วยเหลือเช่นกัน มิฉะนั้นอาจทำให้รังแกผู้อื่นเรื่อยไป ใช้ความรุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นก่ออาชญากรรมได้ในอนาคต
• เด็กที่เห็นเหตุการณ์การรังแกกัน  ก็จะเรียนรู้ว่าการรังแกคนอื่นทำให้มีอำนาจ อาจเลือกข้าง และหนีห่างจากเด็กที่โดนรังแก เพราะกลัวโดนไปด้วย หรืออาจเลียนแบบพฤติกรรมการรังแกคนอื่นเพื่อให้เข้ากลุ่มได้ หรือเพื่อรู้สึกถึงความเหนือกว่าบ้าง

ทำอย่างไร จึงจะป้องกันการ Bully ได้
• โรงเรียน    
    - มีนโยบายต่อต้าน Bully โดยยึดหลักไม่ยอมรับการกลั่นแกล้งรังแกกันทุกกรณี และใช้หลักการนี้ในทุกระดับทั้งโรงเรียน เช่น การเฝ้าระวังความปลอดภัยของสถานที่เสี่ยงในโรงเรียน รถรับส่งนักเรียน จัดกลุ่มนักเรียนผู้สังเกตุการณ์และผู้รับเรื่องร้องเรียนหากมีการรังแกกัน สอนเนื้อหาเรื่องการเห็นอกเห็นใจกัน การเคารพสิทธิผู้อื่น วิธีจัดการเมื่อมีการรังแกกัน รวมถึงประสานกับเครือข่ายผู้ปกครองเป็นระยะๆ โดยทุกคนในโรงเรียนต้องปฏิบัติตามนโยบายนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เด็กรู้สึกปลอดภัยว่าตัวเองจะไม่โดนรังแกได้ง่ายๆ และเรียนรู้ว่าถ้าจะแกล้งคนอื่นก็มีคนจับตามองอยู่ตลอดเวลา
    - ครูและผู้ให้คำปรึกษาในโรงเรียน ควรมีทัศนคติที่เห็นความสำคัญของการ Bully เข้าใจพฤติกรรมและผลกระทบ สามารถรับฟังประสบการณ์จากมุมมองของเด็กและตอบสนองความรู้สึกเด็กๆ ได้ เป็นคนสำคัญที่จะสังเกตและประเมินสถานการณ์ เป็นผู้สื่อสารกับผู้ปกครองช่วยให้ปรับพฤติกรรมและพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ รวมถึงช่วยพัฒนานโยบายต่อต้าน Bully กับทางโรงเรียนด้วย
• ครอบครัว
    - สร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้แก่ลูก โดยการเลี้ยงดูเชิงบวก สอนเรื่องความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและยอมรับความหลากหลายของมนุษย์ จะช่วยให้ลูกเคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่รังแกเพื่อน ลูกจะมีความมั่นใจมากพอที่จะไม่ใส่ใจคำล้อเลียน และสามารถยืนหยัดปกป้องสิทธิของตัวเองหากโดน Bully     
    - ฝึกให้ลูกมีทักษะสังคม เช่น การเข้าหาเพื่อน การแสดงความเห็นที่แตกต่าง การปฏิเสธ ฝึกให้ลูกคิดแก้ปัญหาเมื่อมีเหตุการณ์ตัวอย่างและสอนการจัดการที่เหมาะสม เช่น เมื่อเห็นคนอื่่นแกล้งกัน ถ้าเป็นลูกจะรู้สึกอย่างไร จะทำอย่างไร และสอนวิธีจัดการที่เหมาะสม ไม่ใช้ความรุนแรง และย้ำว่าถ้ามีปัญหาให้บอก พ่อแม่พร้อมช่วยเสมอ
    - สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกรู้สึกสบายใจที่จะเล่าปัญหาให้ฟัง โดยพ่อแม่ควรจัดสรรเวลาไถ่ถามและรับฟังเรื่องราวของลูกทุกวัน หากมีเรื่องราวไม่ชอบมาพากลพ่อแม่จะสังเกตได้เร็วขึ้น
    - ติดตามทักษะสังคม ความสัมพันธ์ของลูกกับเพื่อนและครูเป็นระยะๆ ผ่านการสื่อสารกับครู ผู้ปกครองคนอื่น และเพื่อนๆ ของลูก หากพ่อแม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ของลูกได้ดี จะช่วยเฝ้าระวังการถูก Bully ได้

ทำยังไงดี หนู/ผมถูกเพื่อนแกล้ง
• ให้บอกความต้องการของตัวเองออกไปด้วยน้ำเสียงที่จริงจัง เช่น บอกว่า "หยุดนะ เราไม่ชอบ" แล้วเดินหนีออกมา ไม่ต้องไปแกล้งกลับ หากเป็นครั้งแรก เขาอาจไม่ตั้งใจทำให้เรารู้สึกแย่ ถ้าเขาเข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจและขอโทษด้วยความจริงใจ เราอาจให้อภัยเขาได้เมื่อเราหายโกรธ
• ถ้าเคยบอกแล้วว่าให้หยุด แต่ยังโดนแกล้งซ้ำๆ จึงเรียกได้ว่าเป็นการรังแก (Bully) เพราะเขาตั้งใจทำให้เรารู้สึกแย่ เราต้องตอบสนองโดยแสดงออกไปว่าเราไม่ชอบ แต่ไม่ให้เขาข่มเราได้ เดินหนีไปทำอย่างอื่น ไม่ต้องทนฟัง แสดงให้เห็นว่าคำพูดแย่ๆ หรือการกระทำของเขาไม่มีค่าพอให้เราแคร์ หากเรายังทำไม่ได้ หรือยังเครียดอยู่ ควรปรึกษาผู้ใหญ่ ครูหรือพ่อแม่  ไม่ควรยอมทนไปเรื่อยๆ ควรบันทึกเหตุการณ์ เก็บหลักฐานไว้เพื่อนำไปยืนยันกับผู้ใหญ่ด้วยหากทำได้
• หากโดนแกล้งแบบรุนแรงแม้เพียงครั้งเดียว เช่น ขโมยของ ทำลายของ ไถเงิน ทำร้ายร่างกาย หรือโดนข่มขู่ในโลกออนไลน์ (Cyberbully) ควรเก็บหลักฐานไว้และบอกผู้ใหญ่ทันที เช่น ครู ผู้ปกครอง เพราะเป็นการกระทำที่รุนแรงและอันตราย หากผู้ใหญ่กระทำสิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าผิดกฏหมาย
• ถ้ารู้สึกเครียดจากการโดนแกล้ง แม้จะเกิดขึ้นเพียงหนึ่งครั้ง ก็ควรบอกให้ผู้ใหญ่ทราบทันที จะได้ช่วยเหลือให้คำแนะนำ ไม่ควรเก็บไว้คนเดียว และไม่ควรเลี่ยงโดยการขอหยุดเรียนโดยไม่บอกสาเหตุ
• เพื่อความปลอดภัย ควรไปไหนมาไหนกับเพื่อน ไม่ควรอยู่คนเดียว ยิ่งเพื่อนเยอะยิ่งดี คนอื่นจะไม่กล้าแกล้งรุนแรง หากโดนแกล้งรังแกอีก เพื่อนอาจช่วยเราหรือช่วยขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ให้เราได้ หรือเมื่อโดนล้อเลียนด้วยคำพูด การหันไปคุยเล่นกับเพื่อนก็ช่วยให้เราสนใจคำพูดเหล่านั้นได้น้อยลง แต่ถ้าไม่มีกลุ่มเพื่อนที่ไว้ใจ อย่างน้อยควรอยู่ในที่ที่คนอื่นเห็น ไม่ลับตาคน แล้วค่อยๆ หาโอกาสทำความรู้จักเพื่อนใหม่ๆ
• ถ้าโดนกลั่นแกล้งรังแกผ่านโลกออนไลน์ (Cyberbully) การที่เราตอบสนองคนในออนไลน์ เขาจะยิ่งตอบกลับ เขายิ่งมีอำนาจมากขึ้น  ให้เราเฉยเมยใส่และลดการเสพสื่อออนไลน์นั้นชั่วคราว ลบเนื้อหาที่เราโดนโจมตี หรือ Report ผู้ใช้นั้นได้หากเข้าข่ายที่ App กำหนด  เมื่อเราไม่ Reply ไม่มีใคร Repost เรื่องที่เป็นประเด็นก็จะค่อยๆ หายไปเอง
• เมื่อโดนรังแก เราอาจโกรธ น้อยใจ เสียใจ เสียความมั่นใจ ด้อยค่าตัวเอง อย่านำความโกรธนั้นมาโจมตีตัวเอง จงเปลี่ยนความโกรธเป็นแรงผลักดันให้เรากลับมาดูแลตัวเอง รักตัวเอง ใช้เวลาคนที่รักเรา เช่น เพื่อนที่สนิท ครอบครัว หากิจกรรมที่ชอบ เสริมสร้างความมั่นใจในตัวเอง และทำให้ตัวเองมีความสุขมากขึ้น

ทำอย่างไรเมื่อลูกโดนแกล้ง
1. รับฟังลูกอย่างตั้งใจ เพื่อแสดงความเห็นใจ เข้าใจเหตุการณ์ และวิธีการแก้ปัญหาของลูก  
    - ตามสัญชาติญาณความเป็นพ่อแม่ คุณอาจจะโกรธเด็กที่แกล้งลูก โกรธลูกหรือเป็นห่วงลูกมาก คุณควรรับรู้อารมณ์ตัวเองและระงับมันไว้ก่อน เพื่อจะได้รับฟังลูก และไตร่ตรองหาวิธีแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล
    - ชื่นชมลูก ขอบคุณที่ไว้ใจและเล่าเรื่องนี้ให้พ่อแม่ฟัง รับฟังความรู้สึกของลูกอย่างเห็นใจ แต่อย่าเพิ่งเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือโอ๋ลูกจนเกินไป 
    - รับฟังเหตุการณ์จากมุมมองของลูก ถามรายละเอียดว่าคนที่แกล้งทำอย่างไร ที่ไหน มีใครเห็นบ้าง และลูกจัดการอย่างไร 
    - หากคุณไม่เห็นด้วยกับการจัดการ วิธีคิดหรือความรู้สึกของลูก อย่าตำหนิวิธีแก้ปัญหาหรือสิ่งที่ลูกคิดต่างจากคุณ อย่าเพิ่งแสดงความเห็นจนกว่าลูกจะเล่าระบายความรู้สึกจนหมด 
    - ย้ำกับลูกว่าการรังแกคนอื่นเป็นสิ่งที่ผิด อย่าเพิ่งบอกให้ลูกเมินเฉยหรือไม่ต้องไปใส่ใจ อย่าแนะนำให้ลูกตอบโต้โดยใช้กำลัง เพราะจะทำให้ลูกเป็นฝ่ายผิดไปด้วย ควรถามลูกว่าลูกอยากทำอย่างไรต่อ ที่จะป้องกันตัวเองไม่ให้โดนกระทำอีก และอยากให้ช่วยอย่างไรบ้าง 
    - หากลูกคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร ให้คุณยืนยันว่าสิ่งสำคัญคือความปลอดภัยและการรักษาสิทธิของลูก แสดงความเห็นและแนะนำวิธีการแก้ปัญหาให้ลูกฟัง ดูว่าลูกเห็นด้วยอย่างไรบ้าง หากลูกโดนแกล้งเป็นครั้งแรก ควรสร้างความมั่นใจและแนะวิธีให้ลูกไปใช้แก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อนแล้วติดตามผล พร้อมยืนยันกับลูกว่าหากยังมีปัญหา พ่อแม่รอช่วยอยู่เสมอ 
    
2. หากลูกไม่สามารถจัดการด้วยตัวเองได้ คุณควรเข้าไปช่วยแก้ปัญหา โดยติดต่อครู เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน
    - ก่อนที่คุณจะเข้าไปช่วยเหลือลูก ควรบอกลูกถึงความจำเป็นและบอกทุกครั้งว่าจะทำอะไร เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าเขายังมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ปัญหาและเข้าใจสถานการณ์ของตัวเอง จะทำให้ลูกรู้สึกไว้วางใจ
    - สอบถามรายละเอียดจากครู เพื่อเข้าใจเหตุการณ์และร่วมกันหาแนวทางการแก้ปัญหา โดยพูดคุยกับครูอย่างใจเย็นและเป็นกลาง เลี่ยงการกล่าวโทษ และย้ำว่าปรึกษาเพื่อไม่ให้เกิดการรังแกกันซ้ำๆ ในโรงเรียน ซึ่งจะเป็นผลดี ทั้งกับลูกของคุณและเด็กคนอื่นๆ รวมถึงเด็กที่กระทำด้วย 
    - ไม่ติดต่อผู้ปกครองหรือนักเรียนที่แกล้งโดยตรง เพราะอาจทำให้เหตุการณ์รุนแรงขึ้น ควรให้ทางโรงเรียนเป็นผู้ประสาน
    - บันทึกการปรึกษากับโรงเรียนทุกครั้ง และติดตามการดำเนินการของโรงเรียน สังเกตุและไถ่ถามลูกเรื่องการรังแกเป็นระยะๆ หากยังมีการรังแกเกิดขึ้นอีก ควรแจ้งครูผู้ดูแล หากยังไม่ดีขึ้นอาจแจ้งผู้ที่มีอำนาจสูงกว่าในโรงเรียน เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียน 
    - หากทางโรงเรียนมีท่าทีเพิกเฉย อาจจำเป็นต้องเขียนจดหมายร้องเรียนผู้ที่มีอำนาจด้านการศึกษาในระดับสูงขึ้นไป เช่น ผู้อำนวยการเขตการศึกษา เป็นต้น
    - หากเป็นการรังแกกันในวัยรุ่นที่รุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บ หรือโดนขู่จะทำร้าย ที่ทางโรงเรียนไม่สามารถจัดการได้แล้ว ท่านควรเก็บหลักฐานและดำเนินการตามกฎหมาย 

3. ช่วยให้ลูกรับมือกับการถูก Bully และมีความสุขมากขึ้น
    - สอนลูกเกี่ยวกับการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากการโดนรังแก เช่น ไปไหนมาไหนกับเพื่อนที่เป็นมิตร ไม่ไปในที่ลับตาคนกับกลุ่มเพื่อนที่เคยรังแก สอนวิธีการขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่หากรู้สึกถูกคุกคามหรือรังแก โดยเน้นว่าการขอความช่วยเหลือไม่ได้แปลว่า ขี้ฟ้อง เพราะเราพูดความจริงและเราไม่ได้ทำผิด คนที่ Bully ต่างหากที่ผิด
    - สนับสนุนให้ลูกคบหาเพื่อนที่เป็นมิตร โดยครูอาจเป็นผู้แนะนำเพื่อนที่เหมาะสมให้ พ่อแม่อาจช่วยคิดวิธีให้ลูกสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อน 
    - สังเกตุและวิเคราะห์ลักษณะของลูกที่อาจทำให้เพื่อนอยาก Bully เช่น มีท่าทีขาดความมั่นใจ ขี้อาย ขี้กังวล ขาดทักษะสังคม ชอบสั่งเพื่อน อยู่ไม่นิ่ง พูดเยอะจนรบกวนเพื่อน ใจร้อน ไม่รอคอย เล่นผิดกติกาบ่อย หรือมีปัญหาการเรียนรู้ อาจปรึกษาครูและหาแนวทางในการปรับปรุงพัฒนาในส่วนนั้น 
    - เด็กที่โดน Bully มักขาดความมั่นใจ พ่อแม่ควรเสริมให้ลูกเห็นคุณค่าในตัวเองและมีความภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น เช่น สนับสนุนให้ทำกิจกรรมที่ลูกถนัด มองหาข้อดีและชื่นชมในตัวตนลูกหรือสิ่งที่ลูกทำบ่อยๆ ฝึกให้ลูกระลึกถึงสิ่งที่ตัวเองรู้สึกดีหรือชอบตัวเองและชื่นชมตัวเองเป็น เมื่อลูกมีความภูมิใจในตัวเองมากขึ้น ลูกจะ
ไม่ยอมให้คนอื่นละเมิดสิทธิตน และจะมีท่าทีที่มั่นใจมากขึ้น เพื่อนจะไม่กล้า Bully
    - หากการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนในโรงเรียนทำได้ยาก อาจเสริมความมั่นใจในการเข้าสังคมของลูก โดยชวนให้ลูกมีสังคมนอกโรงเรียน ที่เป็นเพื่อนใหม่ ในวัยใกล้เคียงกันและชอบกิจกรรมคล้ายๆ กัน จะสร้างความสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้น หากทำได้อาจช่วยลดความหมกมุ่นอยู่ในโลกออนไลน์ได้ด้วย
    - หากลูกต้องเปลี่ยนสังคมใหม่ เช่น เข้าโรงเรียนใหม่ อาจมีความกลัวว่าจะโดน Bully อีก พ่อแม่ควรให้กำลังใจ ส่งเสริมให้ลูกสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง วางแผนและซักซ้อมวิธีการสร้างเพื่อนใหม่และการดูแลตัวเองไม่ให้โดน Bully ย้ำกับลูกว่านี่คือสังคมใหม่ มีโอกาสที่จะได้เจอเพื่อนที่เป็นมิตรมากขึ้นและเราได้เตรียมตัวมาดีแล้ว เพื่อให้ลูกมีความมั่นใจมากขึ้น ช่วยลดโอกาสการโดน Bully ได้

ทำอย่างไรเมื่อลูกไปแกล้งคนอื่น
1. รับฟังลูกอย่างตั้งใจ ทำความเข้าใจเหตุการณ์ในมุมของลูก ชี้ให้ลูกตระหนักถึงปัญหา และตั้งกติการ่วมกันเพื่อไม่ให้ลูกทำซ้ำ  
    - เมื่อคุณทราบเรื่องจากครู หรือเพื่อนของลูก ควรไถ่ถามรายละเอียดให้ชัดเจนก่อนมาคุยกับลูก พ่อแม่อาจจะโกรธหรือมีความคิดเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คุณควรรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตน สงบอารมณ์ จัดการใจตัวเองให้เป็นกลางก่อนคุยกับลูก
    - พูดคุยสอบถามรายละเอียดเหตุการณ์จากมุมมองของลูก รับฟังความรู้สึกของลูกอย่างเป็นกลางไม่เลือกข้าง ไม่ตัดสิน จนลูกได้ระบายความรู้สึกจนหมด หลังจากนั้นจึงแจ้งสิ่งที่คุณทราบมาอย่างใจเย็น
    - ชี้ให้ลูกเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น ชวนให้ลูกคิดถึงความรู้สึกของผู้ที่ถูกแกล้ง โดยไม่ใช้น้ำเสียงตำหนิ แล้วถามว่าตอนนี้ลูกรู้สึกอย่างไร เพื่อสอนให้ลูกรู้จักเข้าใจความรู้สึกและเห็นใจผู้อื่น หากลูกมีท่าทีเสียใจ รู้สึกผิด ให้คุณสะท้อนความรู้สึกที่เกิดขึ้น ชื่นชมลูกที่เข้าใจความรู้สึกผู้อื่น รู้จักเห็นใจผู้อื่นและยอมรับในสิ่งที่ทำไป
    - สอนให้ลูกตระหนักว่าการแกล้งหรือละเมิดสิทธิผู้อื่นเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรทำไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หากลูกรับรู้แล้ว สนับสนุนให้ลูกเปลี่ยนตัวเองเป็นคนที่ไม่แกล้งเพื่อน ให้ลูกลองคิดวิธีจัดการตัวเองไม่ให้ทำอีก แล้วคุณค่อยแนะนำเพิ่มเติม 
    - ตั้งกติการ่วมกับลูกว่าหากแกล้งเพื่อนอีกจะถูกลงโทษอย่างไร ควรเป็นการลงโทษที่ไม่ใช้ความรุนแรง และกำหนดชัดเจนว่าทำอย่างไร กี่ครั้ง นานแค่ไหน ร่วมกับการชดเชยให้ผู้ที่โดนแกล้ง โดยทำข้อตกลงที่ลูกยอมรับได้ และเหมาะสมกับวัย ลูกจะยอมทำตามกติกามากขึ้น 
    ตัวอย่าง บทลงโทษที่ไม่ใช้ความรุนแรง ได้แก่ การจำกัดสิทธ์ที่เคยได้ เช่น งดเวลาเล่น หักค่าขนม หรือเพิ่มภาระงานที่เด็กไม่ชอบ เช่น ทำงานบ้านเพิ่ม เป็นต้น 
    ตัวอย่าง การชดให้ผู้ที่ถูกกระทำ ควรชดเชยตามผลกระทบจริงๆ ที่เกิดขึ้น เช่น คืนเงิน/ของที่ขโมยมา ซ่อมของที่ทำพัง ขอโทษเพื่อนที่ทำให้รู้สึกไม่ดี เป็นต้น แต่การขอโทษไม่จำเป็นต้องบังคับให้ทำทันที ควรทำเมื่อรู้สึกพร้อมทั้งสองฝ่ายจึงได้ประโยชน์

2. ปรึกษาครูเพื่อกำหนดบทลงโทษ วิธีการชดเชยสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหาข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยที่กระตุ้นเพิ่มเติม
    - คำถามที่จะบ่งบอกถึงปัจจัยกระตุ้นให้ลูกมีพฤติกรรมแกล้งคนอื่น ได้แก่ ลูกเคยโดนแกล้งมาก่อนหรือไม่ มีเด็กคนอื่นที่ชอบแกล้งเพื่อนอีกหรือไม่ กลุ่มเพื่อนลูกเป็นอย่างไร ลูกมีความเครียดที่โรงเรียนหรือที่บ้านหรือไม่ ลูกมีปัญหาการเรียนรู้ พฤติกรรม อารมณ์ หรือขาดทักษะทางสังคมหรือไม่ โดยการสังเกตุ พูดคุยกับลูก ครูและเพื่อนๆ ของลูก เพื่อหาแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำร่วมกับครู หรือปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นให้ช่วยหาสาเหตุ และช่วยเหลือให้ลูกพัฒนาทักษะที่บกพร่องได้

3. ช่วยให้ลูกเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ เคารพสิทธิของผู้อื่น และภูมิใจในตัวเองได้ไม่ต้องแกล้งเพื่อน         - ช่วงแรกที่ลูกตั้งใจจะไม่แกล้งเพื่อนแล้ว เพื่อนอาจยังจำภาพที่ไม่ดี หรือกลัวลูกของคุณอยู่ ทำให้การสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนเป็นไปได้ยาก พ่อแม่ควรให้กำลังใจให้แนะนำวิธีการเข้าหาเพื่อน โดยเลือกสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนที่ไม่ได้โดนแกล้ง หรือไม่อยู่ในเหตุการณ์ก่อน แล้วค่อยๆ สร้างความเชื่อใจกับเพื่อน ให้เพื่อนเห็นตัวตนใหม่ของลูก
    - เด็กที่แกล้งคนอื่น ลึกๆ อาจขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง พ่อแม่ควรเสริมให้ลูกมีความภาคภูมิใจในตัวเองไม่ต่างจากเด็กที่โดนแกล้ง นอกจากการชมเรื่องทักษะ ความเก่ง ควรเน้นชื่นชมคุณสมบัติภายในให้มากขึ้น เช่น การเห็นใจคนอื่น มีน้ำใจ มีความพยายาม เป็นเด็กดี เป็นต้น ถ้าลูกรู้สึกเป็นที่ยอมรับเขาก็จะยอมรับความต่างของเพื่อน และเคารพสิทธิของคนอื่นมากขึ้น
    - พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ใช้ความรุนแรง เป็นต้นแบบในการยอมรับความแตกต่าง การเห็นอกเห็นใจและการเคารพสิทธิผู้อื่น ควรสอดแทรกการสอนเรื่องเหล่านี้เมื่อมีโอกาส สอนวีธีแก้ปัญหาอย่างสันติเมื่อมีความขัดแย้ง สอนวิธีจัดการอารมณ์  และชื่นชมลูกทุกครั้งที่แสดงทัศนคติที่ดี หรือสามารถจัดการความขัดแย้งด้วยวิธีที่เหมาะสมได้ จะทำให้ลูกสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ โดยเคารพสิทธิของผู้อื่นและไม่แกล้งคนอื่นอีก

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777 
ศูนย์รักษา: ศูนย์สุขภาพจิต
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 24/06/2024

แพทย์ผู้เขียน

พญ. สวรรยา เสาวภาพ

img

ความถนัดเฉพาะทาง

จิตเวชเด็กและวัยรุ่น

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ