• banner

อาการปวดหลัง บอกโรคอะไรบ้าง ?

อาการปวดหลังเป็นอาการที่พบได้บ่อย สาเหตุของอาการปวดหลังจำนวนไม่น้อยมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งมากเกินไป ยกของหนัก หรือออกกำลังกายหนักมากเกินไป ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีอาการปวดในลักษณะหรือแบบเดียวกัน เรามาสังเกตกันดีกว่าค่ะว่าอาการปวดหลังแต่ละแบบนั้น เป็นสัญญาณเตือนความผิดปกติของร่างกายหรือโรคต่างๆ อะไรบ้าง ตามไปดูกัน

  • ปวดหลังบริเวณสีข้างหรือส่วนหลังเหนือบั้นเอวทั้งสองข้าง อาจเกิดจากความผิดปกติภายใน เช่น โรคไต โรคนิ่วในถุงน้ำดี มักจะมีอาการผิดปกติร่วมอื่นๆ เช่น ปัสสาวะผิดปกติ จุกเสียดแน่นท้อง ซึ่งหากปล่อยทิ้งเอาไว้นานๆ อาจจะทำให้เกิดภาวะไตติดเชื้อ หรือไตวายได้
  • ปวดหลังเรื้อรัง หากมีอาการปวดหลังเป็น ๆ หาย ๆ อาจเป็นอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม ส่วนใหญ่เป็นอาการที่เกิดจากการอักเสบและเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการปวดคอ ปวดตามตัว รวมถึงการปวดหลังเรื้อรังตามมา
  • ปวดหลังถ้าร่วมกับอาการไข้ อาจเกิดจากกระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูกสันหลังติดเชื้อ เชื้อโรคจะทำให้โครงสร้างเสียหายเลยทำให้ปวดหลัง อาการปวดจะมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว นั่ง ยืน หรือติดเชื้อบริเวณอวัยวะที่อยู่ทางด้านหลังของลำตัว เช่น ติดเชื้อที่ไต อวัยวะในช่องท้อง เป็นต้น
  • ปวดหลังร้าวลงขา ไอ จามจะยิ่งปวด อาจเกิดจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากเจลในหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นออกมาไปกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง หรือรากประสาท มีสาเหตุมาจากนั่งทำงานอยู่ในท่านั่งเดิมเป็นเวลานานแล้วไม่ค่อยได้เปลี่ยนอิริยาบถ การก้ม ๆ เงย ๆ เป็นประจำ ยกของหนัก รวมถึงความเสื่อมตามธรรมชาติ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังรุนแรง ปวดมากจนไม่อาจขยับตัวได้ รวมไปถึงอาการอื่น ๆ เช่น ปวดร้าวลงไปที่สะโพก ต้นขาหรือน่อง อาการชา ขาอ่อนแรง ร่วมด้วย
  • ปวดหลังแบบกว้างๆ ก้มหรือแอ่นหลังไม่ได้ อาจเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน โรคนี้ไม่ได้เกิดหรือเกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังโดยตรง แต่เป็นที่กล้ามเนื้อหลังโดยเฉพาะ เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหลังถูกใช้งานมากเกินไป เช่น เล่นกีฬาอย่างหนัก การขยับตัวผิดท่าหรือรุนแรง เกิดอุบัติเหตุโดนกระแทกที่หลัง โดยอาการที่พบจะปวดเกร็งหลัง ปวดตึงหลัง จนหลังแข็งเกร็ง ก้มหรือขัยบตัวลำบาก อาจรู้สึกปวดหลังแบบกว้างๆ ระบุตำแหน่งชัดเจนไม่ได้

หากมีอาการปวดหลังเรื้อรังเป็นเวลานานกว่า 4 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777 
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคกระดูกและข้อ
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 26/04/2023

แพทย์ผู้เขียน

นพ. เจริญชัย อัศวก้องเกียรติ

img

ความถนัดเฉพาะทาง

ศัลยแพทย์ทางด้านโรคกระดูกและข้อ

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ