• banner

การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ในเด็ก

ต่อมอะดีนอยด์ เป็นต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ในการกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจและตัวต่อมอะดีนอยด์อาจเกิดการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วยได้ หากต่อมอะดีนอยด์เกิดการอักเสบซ้ำๆ จะทำให้ต่อมอะดีนอยด์โตขึ้น และถ้าต่อมอะดีนอยด์โตมากเกินไปจะอุดกั้นทางเดินหายใจบริเวณหลังโพรงจมูก ทำให้มีการหายใจลำบาก นอนกรน และไซนัสอักเสบ เบื้องต้นอาจรักษาโดยการใช้ยาพ่นจมูกและยากิน แต่ในกรณีที่อาการรุนแรงอาจต้องได้รับการผ่าตัด

ต่อมอะดีนอยด์ เป็นต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่ง ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังของโพรงจมูก ทำหน้าที่ในการกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคคออักเสบ โรคไซนัสอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ หรือโรคหลอดลมอักเสบในเด็ก ต่อมอะดีนอยด์จะมีขนาดโตในเด็กเล็กและจะค่อยๆ ลดขนาดลงเมื่อเด็กอายุมากขึ้น แต่ถ้าต่อมอะดีนอยด์โตมากเกินไปจะไปอุดตันท่อยูสเตเชียน ทำให้เกิดหูชั้นกลางอักเสบและมีหูอื้อขึ้นได้ อุดตันการไหลของน้ำมูกลงคอทำให้เกิดไซนัสอักเสบ อุดตันทางเดินหายใจทำให้เด็กหายใจไม่สะดวก ต้องหายใจทางปากเกิดการนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับได้

ข้อพิจารณาสำหรับการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ (Adenoidectomy) ในเด็ก

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด เช่น
• ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
• นอนกรนและมีหยุดหายใจขณะหลับ
• หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง แบบมีน้ำขังในหูชั้นกลาง

การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์
เป็นหนทางหนึ่งของการรักษาหลังจากรักษาโดยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล หลังจากแพทย์ได้อธิบายความจำเป็นในการผ่าตัด วิธีการผ่าตัด ผลของการรักษา และความเสี่ยงของการผ่าตัดรวมถึงทางเลือกของการรักษา แพทย์จะวางแผนก่อนการผ่าตัด ดังนี้
• ตรวจสุขภาพทั่วไป รวมทั้งการเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด และควบคุมโรคเดิมที่มีอยู่ให้พร้อมที่จะผ่าตัด ต้องปรึกษากุมารแพทย์ร่วมดูแลรักษาด้วย
• เมื่อถึงเวลาวันนัด แพทย์จะรับเข้านอนในโรงพยาบาล และงดน้ำและอาหารทุกชนิด 6 ชั่วโมง ก่อนถึงเวลาผ่าตัด

วิธีการผ่าตัด
เป็นการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ที่อยู่ด้านหลังโพรงจมูกออกผ่านทางช่องปาก ภายใต้การวางยาสลบ และไม่มีแผลด้านนอกที่ลำคอ

ทางเลือกอื่นในการรักษาหากไม่รับการผ่าตัด

• กรณีไซนัสอักเสบเรื้อรัง การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงติดหวัดจากผู้อื่น ใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อจำเป็นตามแพทย์สั่ง อาจช่วยให้อาการดีขึ้นระดับหนึ่ง
• กรณีนอนกรน อาจใช้เครื่องช่วยหายใจ (CPAP) เพื่อถ่างทางเดินหายใจ ช่วยทำให้อาการนอนกรนและการหยุดหายใจขณะหลับลดลง แต่ในเด็กจะใช้ได้ลำบาก
• การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก และกินยาบางชนิด (Montelukast) อาจทำให้ต่อมอะดีนอยด์ยุบลงได้บ้าง
• กรณีหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง อาจดีขึ้นหลังจากการรักษาหวัดเรื้อรังและไซนัสอักเสบ หรือเจาะแก้วหูเพื่อระบายน้ำที่ขังในหูชั้นกลาง

ผลเสียหากไม่รับการผ่าตัด
• กรณีไซนัสอักเสบเรื้อรัง ทำให้เด็กมีอาการคัดจมูก น้ำมูกเขียว ไอ มีเสมหะในลำคอเป็นๆ หายๆ ตลอด
• กรณีนอนกรน นอนตื่นมาจะไม่สดชื่น ปวดหัวตอนเช้า ง่วงกลางวัน สมาธิและความจำไม่ดี ระยะยาวทำให้ความดันโลหิตสูงและหัวใจโตได้ ถ้านอนอ้าปากหายใจนานๆ จะทำให้รูปหน้าเปลี่ยน (หน้าจะยาว เพดานปากสูง ฟันหน้ายื่น สบฟันไม่ดี)
• กรณีหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง ทำให้หูอื้อมีผลต่อการได้ยินและพัฒนาการของเด็ก

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด
• เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากดมยาสลบ
• มีเลือดออก (ทันทีหลังผ่าตัดหรือหนึ่งสัปดาห์หลังผ่าตัด)
• ติดเชื้อที่ผ่าตัด
• ปวดแผล โดยเฉพาะหนึ่งสัปดาห์แรก อาจมีบาดเจ็บที่ฟัน ริมฝีปาก ลิ้น เนื่องจากการใส่เครื่องมือถ่างปาก
• มีเสียงขึ้นจมูกหรือกินอาหารสำลักขึ้นจมูก เนื่องจากเพดานอ่อนปิดไม่สนิท ซึ่งจะดีขึ้นเมื่อแผลหายดี

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด
• รับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลว
• นอนหัวสูง
• ห้ามขากเสมหะแรงๆ หรือสั่งน้ำมูกแรงๆ
• รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
• งดการล้างจมูกและพ่นจมูกจนกว่าแผลจะหายสนิท

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคหู คอ จมูก
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 26/08/2024

แพทย์ผู้เขียน

นพ. กรีฑา ม่วงทอง

img

ความถนัดเฉพาะทาง

โสต-ศอ-นาสิกแพทย์

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ