• banner

8 ขั้นตอน ฟื้นคืนชีพเด็กจมน้ำ (CPR)


ในช่วงปิดเทอม และหน้าร้อนแบบนี้ ภัยอันตรายที่ประชาชนควรตระหนักและเพิ่มความระมัดระวัง คือภัยจากการจมน้ำ ซึ่งสถานการณ์เด็กจมน้ำในประเทศไทย เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยในอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 9,574 คน เป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปี เสียชีวิตสูงสุดร้อยละ 40.5 เด็กอายุ 0-2 ปี ร้อยละ 20.0 ข้อมูลโดยสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คุณพ่อคุณแม่ควรต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา และเพิ่มความระมัดระวังเมื่อนำเด็กเข้าใกล้แหล่งน้ำ แต่หากเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญทีจะช่วยชีวิตให้ปลอดภัย ซึ่งขั้นตอนการช่วยชีวิตสำหรับเด็กจมน้ำ มีขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1 เรียกดูว่าหมดสติจริงหรือไม่ รีบนำเด็กที่จมน้ำออกจากที่เกิดเหตุและให้อยู่ในที่ปลอดภัย โดยจัดท่าให้นอนหงายราบบนพื้นราบแข็ง แล้วจึงเข้าไปนั่งข้างตัวผู้หมดสติ ตบที่ไหล่สองข้าง พร้อมเรียกด้วยเสียงดังๆ ขอความช่วยเหลือ

ขั้นที่ 2 เรียกหาความช่วยเหลือ ในกรณีที่เป็นเด็ก หากท่านอยู่เพียงคนเดียวให้ลงมือช่วยชีวิตเด็กก่อน แล้วค่อยไปโทรศัพท์ภายหลัง (CPR first) เพราะสาเหตุการหมดสติในเด็กมักเกิดจากทางเดินลมหายใจถูกอุดกั้น ซึ่งช่วยได้โดยการลงมือปฏิบัติการช่วยชีวิตก่อน โดยกดหน้าอก 30 ครั้ง และช่วยหายใจ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 นาที (5 รอบ) แล้วจึงละจากผู้ป่วยไปโทรศัพท์ 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่หากมีผู้อื่นอยู่ในบริเวณนั้น ให้ขอให้ผู้ใดผู้หนึ่งช่วยโทรศัพท์ 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือพร้อมๆ กับเริ่มลงมือปฏิบัติการช่วยชีวิต

ขั้นที่ 3 การกดหน้าอก 30 ครั้ง การปั๊มหัวใจในเด็กให้วางส้นมือของมือหนึ่งไว้กลางหน้าอกบริเวณครึ่งล่างของกระดูกหน้าอก (ใช้มือเดียว หรือใช้สองมือ ขึ้นอยู่กับขนาดตัวเด็ก) การกดหน้าอกโดยกดให้ยุบลงอย่างน้อย 1/3 ของความหนาของทรวงอก หรือ 5 ซม. สามารถทำได้โดยกดหน้าอกแล้วปล่อย ทำติดต่อกันไป 30 ครั้ง ให้ได้ความถี่ของการกด 100-120 ครั้งต่อนาที

ขั้นที่ 4 เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง ทำโดยวิธีดันหน้าผากและยกคาง โดยการเอาฝ่ามือข้างหนึ่งดันหน้าผากลง นิ้วชี้และนิ้วกลางของมืออีกข้างหนึ่งยกคางขึ้น ใช้นิ้วมือยกเฉพาะกระดูกขากรรไกรล่างโดยไม่กดเนื้ออ่อนใต้คาง ให้หน้าผู้ป่วยเงยขึ้น

ขั้นที่ 5 การช่วยหายใจแบบปากต่อปาก ให้เลื่อนหัวแม่มือและนิ้วชี้ของมือที่ดันหน้าผากอยู่มาบีบจมูกเด็กให้รูจมูกปิดสนิท สูดลมหายใจเข้าตามปกติแล้วครอบปากผู้ช่วยเหลือเข้ากับปากของผู้หมดสติ ตาชำเลืองมองหน้าอกผู้หมดสติพร้อมกับเป่าลมเข้าไปจนหน้าอกของผู้หมดสติขยับขึ้น เป่านาน 1 วินาที แล้วถอนปากออก ให้ลมหายใจของผู้หมดสติผ่านกลับออกมาทางปาก เป่า 2 ครั้ง แล้วกลับไปกดหน้าอก

ขั้นที่ 6 ใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AED) หากมีเครื่องเออีดี ให้เปิดเครื่องทันทีที่เครื่องมาถึง ใช้งานตามคำแนะนำของเออีดี จนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง

ขั้นที่ 7 ทำตามคำแนะนำของเครื่องเออีดี (AED) กดหน้าอก ทำ CPR อย่างต่อเนื่องจนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง

ขั้นที่ 8 ส่งต่อผู้ป่วยให้กับทีมกู้ชีพ เพื่อนำส่งโรงพยาบาล

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 11/04/2022

แพทย์ผู้เขียน

นพ. สรายุทธ วิบูลชุติกุล

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคหัวใจ

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

ข้อมูลสุขภาพอื่นๆ

แพ็กเกจอื่นๆ