• banner

7 เคล็ดลับวิ่งอย่างไรไม่ให้เจ็บตัว

ช่วงนี้หันไปทางไหนก็เจอหนุ่ม ๆ สาว ๆ สนใจเรื่องการออกกำลังกายกันมากขึ้น โดยเฉพาะการวิ่ง ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกายที่ทำได้ง่าย ใช้อุปกรณ์ไม่มาก และยังได้ในเรื่องของสุขภาพอีกด้วย สำหรับคนไหนที่เพิ่งเริ่มจะหันมาวิ่งอย่างจริงจัง วันนี้เรามีเคล็ดลับสำหรับนักวิ่งมือใหม่ฝากไว้เป็นข้อมูลกันค่ะ
  • เช็คสุขภาพสร้างความพร้อมก่อนออกวิ่ง การออกกำลังกายอย่างเพียงพอเป็นสิ่งดีต่อสุขภาพ แต่ต้องให้ความสำคัญกับความพร้อมของร่างกาย ประเมินร่างกายตัวเองเสียก่อน โดยประเมินจาก อายุ เพศ โรคประจำตัวที่เป็นอยู่ และความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการวิ่ง
  • วอร์มอัพสำคัญมาก (warming up) การอบอุ่นร่างกายเป็นการเตรียมส่วนต่างๆของร่างกายให้พร้อมที่จะเคลื่อนไหวในระยะเวลาที่นานกว่าปกติ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นจากการวิ่ง โดยทั่วไปการอบอุ่นร่างกายจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การอบอุ่นร่างกายให้อุณหภูมิสูงขึ้นและการยืดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและข้อต่อ เพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ให้เกิดความเสียหาย
  • ค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเริ่มออกวิ่งในครั้งแรกๆ สิ่งที่ต้องเผชิญก็คือ ความรู้สึกเหนื่อยเมื่อยล้า เนื่องจากกล้ามเนื้อขาดการฝึกฝน อย่างไรก็ตามอย่าหยุดเคลื่อนไหวโดยทันที เพราะจะส่งผลต่อการทำงานของระบบหัวใจ แนะนำให้ใช้การเดินสลับวิ่ง เช่น เดิน 50 ก้าวสลับกับวิ่ง 50 ก้าว แล้วค่อยๆ ลดจำนวนก้าวเดินลงเป็น 40 ก้าวสลับกับวิ่ง 50 ก้าว ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนเหลือการเดินเป็น 10 ก้าวสลับกับวิ่ง 50 ก้าว เป็นต้น
  • เพิ่มระยะทางขึ้นที่ละนิด การเพิ่มระยะทางการวิ่งให้ได้ไกลกว่าเดิมนั้นจะต้องฝึกความอดทนของร่างกายร่วมกับการเอาชนะใจตนเอง สามารถปฏิบัติได้ทันที เพียงเพิ่มเวลาเข้าไปเล็กน้อยในการวิ่งแต่ละครั้ง จนทำได้ครบตามเวลาที่ตั้งไว้ แต่อย่างไรก็ตามการวิ่งอย่างหักโหมมักจะเกิดผลร้ายมากกว่าผลดี
  • วิ่งให้เร็วขึ้นอีกนิด หากต้องการเพิ่มความเร็วในการวิ่งจะต้องฝึกซ้อมแบบ plyometric (การพัฒนากล้ามเนื้อ) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความคล่องแคล่วให้กับร่างกาย ช่วยทำให้วิ่งได้ไกลยิ่งขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเผาผลาญในร่างกาย
  • ฝึกหายใจให้ถูกหลัก ตามปกติแล้วถ้าวิ่งไปสักพักหนึ่งระบบการหายใจจะค่อยๆ ปรับตัวให้เข้ากับจังหวะการวิ่งโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่ลงตัว หายใจอย่างสบาย กรณีวิ่งช้าควรใช้จังหวะ 3:3  (หายใจเข้า 3 ก้าวหายใจออก 3 ก้าว ) แต่ถ้าวิ่งเร็วจังหวะจะเปลี่ยนเป็น 2:2 การฝึกหายใจที่ถูกต้องจะทำให้การวิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • คูลดาว์น ร่างกายจะได้ไม่พัง (cooling down) การทำให้ร่างกายค่อยๆเย็นลง ลดอัตราการเต้นของหัวใจอย่างช้าๆ ให้เลือดไหลเวียนสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ในขณะที่วิ่งร่างกายจะดึงออกซิเจนมาจากกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มพลังงานในการเคลื่อนไหว ก่อให้เกิดกรดแลคติก (Lactic Acid) ซึ่งส่งผลให้เมื่อยล้า ตะคริว แต่กรดแลคติกจะสลายตัวได้ก็ต่อเมื่อกล้ามเนื้อมีออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ ดังนั้นการคูลดาวน์ช่วยลดอาการดังกล่าว เพิ่มออกซิเจนในเลือดและลดความเสียหายของกล้ามเนื้อหลังจากการวิ่ง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคกระดูกและข้อ
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 08/04/2022

แพทย์ผู้เขียน

พญ. ปัญญ์ชลี สัตย์พานิช

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคข้อและรูมาติสซั่ม

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ